กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำ แตนเบียน คุมศัตรูมะพร้าว

Agri+

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำ แตนเบียน คุมศัตรูมะพร้าว

แมลงดำหนามมะพร้าวเป็นศัตรูมะพร้าวที่สำคัญ ทำลายมะพร้าวโดยกัดกินยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ ทำให้ยอดมะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต หากการทำลายรุนแรง ทำให้ใบแห้งกลายเป็นสีน้ำตาล มองเห็นเป็นสีขาวโพลน ชาวสวนเรียกอาการหัวหงอก การป้องกันกำจัดแมลงดำหนามมะพร้าวโดยชีววิธี โดยการใช้ แตนเบียน อะซีโคเดส  (Asecodes hispinarum) และแตนเบียนเตตระสติคัส (Tetrastrichus brontispae )   เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อชาวสวนมะพร้าว ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเกษตรกรที่มีความตั้งใจสามารถเพาะเลี้ยงแตนเบียนได้ด้วยตนเอง

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำ แตนเบียน คุมศัตรูมะพร้าว
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำแตนเบียนคุมศัตรูมะพร้าว

แตนเบียนอะซีโคเดสทำลายแมลงดำหนามมะพร้าว  โดยใช้อวัยวะวางไข่แทงเข้าไปวางไข่ในตัวหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว เมื่อไข่ของแตนเบียนฟักเป็นตัวหนอนจะดูดกินของเหลวภายในตัวหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว ทำให้เคลื่อนไหวช้า กินอาหารน้อยลงและตายในที่สุด หลังถูกเบียน 5-7 วัน หนอนที่ถูกเบียนตาย ลำตัวสีดำและแข็ง เรียกว่ามัมมี่ ส่วนลักษณะการทำลายแมลงดำหนามมะพร้าวของแตนเบียนเตตระสติคัสเหมือนกับแตนเบียนอะซีโคเดส เพียงแต่       แตนเบียนเตตระสติคัสทำลายหนอนวัย 4 หรือระยะดักแด้

แตนเบียนคุมศัตรูมะพร้าว
แตนเบียนคุมศัตรูมะพร้าว

วิธีการเพาะเลี้ยงแตนเบียนอะซีโคเดส ทำได้โดยตัดใบมะพร้าววางในกล่องเบียน ใส่หนอนวัย 3 จำนวน 100 ตัว และพ่อแม่พันธุ์แตนเบียน (ได้จาก 5 มัมมี่) ที่ผสมพันธุ์แล้วประมาณครึ่งวันลงในกล่องเบียน ปิดฝากล่องซึ่งเจาะเป็นช่องบุด้วยผ้าตาข่าย ใช้กระดาษทิชชู จุ่มน้ำผึ้งพอหมาดๆ ปิดบนฝากล่องบนผ้าตาข่าย เพื่อเป็นอาหารให้พ่อแม่พันธุ์แตนเบียน หลังจากหนอนถูกเบียน 7 วัน นำมัมมี่ล้างด้วยคลอร็อกซ์ 10 % ผึ่งให้แห้งสนิท นำไปปล่อยเพื่อควบคุมแมลงดำหนามมะพร้าวในสวน โดยปล่อยไร่ละ 5-10 มัมมี่ 3- 5 ครั้ง ห่างกัน 7 – 10 วัน เมื่อควบคุมได้แล้วให้ปล่อยเพิ่มเป็นระยะ 5 – 6 ครั้ง เพื่อป้องกันการระบาดใหม่

สำหรับแมลงดำหนามมะพร้าวที่นำมาใช้เลี้ยงแตนเบียน เกษตรกรควรเลี้ยงด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมการผลิต สามารถกำหนดปริมาณแตนเบียนและช่วงเวลาที่ต้องการ อย่างไรก็ตามในพื้นที่ที่พบการระบาดของแมลงดำหนามมะพร้าว เกษตรกรสามารถลดประชากรของแมลงดำหนามมะพร้าวและเพิ่มปริมาณแตนเบียน โดยใช้หนอนและดักแด้ในธรรมชาติมาใช้ในการผลิตแตนเบียน ส่วนไข่และ
ตัวเต็มวัย ให้นำมาเลี้ยง จนกระทั่งเป็นหนอนและดักแด้ที่จะนำมาใช้ในการผลิตแตนเบียนต่อไป

“เกษตรกรและผู้ที่สนใจเลี้ยงและใช้แตนเบียนป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว ตลอดจนชีววิธีต่าง ๆ ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือร่วมเป็นสมาชิกศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) เพื่อรับทราบข่าวสารศัตรูพืชให้รู้เท่าทันสถานการณ์ และเรียนรู้วิธีการตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชต่อไป” นายสำราญ  สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว