โรคใบจุดดำกุหลาบ
โรคใบจุดดำกุหลาบ ในระยะที่สภาพอากาศมีฝนตก และมีลมแรงบางแห่งช่วงนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการปลูกกุหลาบ เตือนเกษตรกรผู้ปลูก กุหลาบเฝ้าระวังการเกิดโรคใบจุดดำ สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของกุหลาบ มักพบแสดงอาการเริ่มแรกที่ใบกุหลาบด้านล่างก่อน โดยใบจะเริ่มเป็นจุดแผลกลมสีดำ ขอบแผลไม่เรียบ กลางแผลมีสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ กรณีที่มีความชื้นสูง แผลจะขยายใหญ่ สามารถพบได้หลายแผลในหนึ่งใบ ทำให้ใบเหลือง แห้ง และหลุดร่วง เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความชื้น ลดแหล่งสะสมเชื้อราสาเหตุโรค ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการระบาดของโรค หากเริ่มพบต้นที่เป็นโรค ให้เกษตรกรตัดส่วนที่เป็นโรคและเก็บใบที่ร่วงหล่นนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อรา กรณีโรคยังคงระบาด ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัด โรคพืชโพรคลอราซ 45% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 5-7 วัน นอกจากนี้ ให้เกษตรกร หลีกเลี่ยง การให้น้ำแบบพ่นฝอย เพราะจะทำให้ใบกุหลาบมีความชื้นสูง หรือกรณีที่ต้องการให้น้ำแบบพ่นฝอย เกษตรกรควรให้น้ำในตอนเช้า อีกทั้งควรล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางการเกษตรต่างๆ ให้สะอาด และผึ่งแดดให้แห้งหลังการใช้งานทุกครั้งอยู่เสมอ เมื่อได้นำไปใช้กับต้นที่เป็นโรคในแปลงที่มีการระบาดก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ในครั้งต่อไป
แฟนเพจ อะกรี พลัส