การดื้อยาต้านจุลชีพ และการจัดการในประเทศไทย
การดื้อยาต้านจุลชีพ และการจัดการในประเทศไทย เป้าหมายลดการใช้ยา และควบคุม ป้องกัน เชื้อดื้อยาทั้งในคนและในสัตว์
รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ ในการควบคุมให้มีการใช้ยาอย่างเหมาะสมและการจัดการเชื้อดื้อยาทั้งในคนและสัตว์ คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 และนายกรัฐมนตรีลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ มีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นกรรมการและเลขานุการ ร่วมกับอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติในการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน ให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายลดการใช้ยา และควบคุม ป้องกัน เชื้อดื้อยาทั้งในคนและในสัตว์
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เชื้อดื้อยา ณ วันนี้ เป็นเรื่องสำคัญในระดับโลก ที่มีความเคลื่อนไหวกันอยู่มากในหลายภาคส่วน ทั้งในคนและสัตว์ ซึ่งกรมปศุสัตว์มีการควบคุมการใช้ยาในสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์ให้ความสำคัญทั้งเรื่องการพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ คุณภาพยา อาหารสัตว์และวัคซีน เพื่อให้สัตว์ปลอดโรค มีการควบคุม ป้องกัน เชื้อดื้อยา และสารตกค้าง โดยมีหน่วยงานและคณะกรรมการที่เฝ้าระวังเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ในส่วนของกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการกำหนดนโยบายร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการใช้ยาสมเหตุผล และลดการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันกับสัตวแพทยสภา และสมาคมที่เกี่ยวข้อง และได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่มีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการควบคุมการใช้ยาและเชื้อดื้อยาเป็นอย่างดี
สำหรับการดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพยาปฏิชีวนะที่จำหน่ายในท้องตลาด มีการประกาศห้ามการใช้ยาในวัตถุประสงค์เพื่อเสริมการเจริญเติบโตในทุกชนิดสัตว์ สำหรับสัตว์ปีกมีประกาศห้ามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จัดตั้งคณะกรรมการควบคุม แก้ไข และป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยาในสัตว์ ซึ่งมีอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธาน และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายคณะ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย พัฒนาและจัดทำแผนเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาใน การปศุสัตว์ มีคณะกรรมการเฝ้าระวังสารตกค้าง การจัดทำแผนเพื่อตรวจสอบสารตกค้างจากยาสัตว์ เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะสัตว์ปีก และสุกร เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยเก็บตัวอย่างสินค้าปศุสัตว์ทั้งจากที่ฟาร์มและโรงฆ่า
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบปัญหาน้อยมาก เนื่องจากได้จัดทำและรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นรายชนิด มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2543 ซึ่งครอบคลุมทุกชนิดสัตว์ปศุสัตว์ที่สำคัญ เช่น ไก่เนื้อที่เลี้ยงเพื่อการพาณิชย์ อยู่ในระบบมาตรฐานฟาร์มที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรองแล้ว เกือบ 100 เปอร์เซนต์ สำหรับสุกร ครอบคลุมจำนวนสุกรมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นรายชนิด ซึ่งผู้ที่ได้รับการรับรองต้องผ่านการฝึกอบรม โดยหลักสูตรของกรมปศุสัตว์และสัตวแพทยสภา และมีแนวทางร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุข ที่จะออกประกาศให้การใช้ยาปฏิชีวนะทั้งในคนและสัตว์ต้องเป็นไปตามใบสั่งแพทย์และสัตวแพทย์
จากการดำเนินโครงการปศุสัตว์ OK เนื้อสัตว์ปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค เป็นการรับรองคุณภาพในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตั้งแต่ต้นทางกระบวนการผลิตเริ่มจากสัตว์ที่มาจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน (Good Agricultural Practices: GAP) ผ่านการฆ่าและชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมายและมีสุขลักษณะที่ดี และวางจำหน่ายในสถานที่จำหน่ายที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ทั้งนี้จากการดำเนินการต่างๆ นี้เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารด้านปศุสัตว์ที่ สด สะอาด และปลอดภัย