ยุคข้าวยากหมากแพงที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ท้าทายฝีมือการบริหารบ้านเมืองไม่น้อย โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ที่กำกับดูแลราคาสินค้าและค่าครองชีพของผู้บริโภค นับแค่สงครามยูเครน-รัสเซีย ก็เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ราคาธัญพืชอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด พุ่งสูงขึ้นกระทบการผลิตอาหารตลอดห่วงโซ่ รวมไปถึงการขยับราคาของเชื้อเพลิง ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อ
ผู้ได้รับผลกระทบไม่ใช่เพียงผู้บริโภค แต่รวมถึงผู้ประกอบการ เกษตรกร และเจ้าของธุรกิจ ที่จะเอาอาชีพ-เอาธุรกิจของตนให้รอดได้อย่างไร ท่ามกลางต้นทุนการผลิตที่พุ่งทะยานจนเกินรับไหว ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ กลับใช้วิธี “คุมราคาขาย” สินค้าต่างๆ บนข้ออ้างว่า เพื่อลดค่าครองชีพผู้บริโภค …. แนวทางนี้ดีต่อผู้บริโภคจริงหรือ?
ในยามปกติ การควบคุมราคาสินค้าเพื่อป้องกันการฉวยโอกาสทำกำไรเกินควรเป็นสิ่งที่พึงกระทำ และส่งผลดีให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าในราคาสมเหตุผล โดยผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจมีกำไรและอยู่รอด มีศักยภาพและความเต็มใจที่จะเสียภาษีไปพัฒนาประเทศ แต่ในยามไม่ปกติ เกิดภาวะสงครามที่ยืดเยื้อ มีสถานการณ์โรคระบาด วัตถุดิบมีราคาสูง สุ่มเสี่ยงที่ต้นทุนการผลิตสินค้าจะพุ่งขึ้นต่อเนื่องโดยมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด ขณะที่ผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมต่างส่งสัญญาณเตือนไปยังภาครัฐครั้งแล้วครั้งเล่า ขออนุญาตขยับราคาตามต้นทุนหลายครั้งหลายครา แต่ผลที่ได้ดูเหมือนกระทรวงพาณิชย์จะไม่เข้าใจ
วันก่อนได้อ่านข่าวของ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณแห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แล้วต้องบอกว่าท่านเป็นผู้รู้ที่กล้าอธิบายให้เห็นภาพการทำงานของรัฐ และชี้ให้เห็นความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศที่จะตามมาหากรัฐยังยืนยันที่จะคุมราคาสินค้าต่อไป
“กระทรวงพาณิชย์ไม่เข้าใจเรื่องของเศรษฐกิจ ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำมันแพงที่ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้นเป็นการแพงขึ้นทั่วโลก การคุมราคาที่อ้างว่าไม่ให้ของแพงกระทบกับประชาชน ถือเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับเศรษฐกิจ หากยังคงดำเนินนโยบายคุมราคาเช่นนี้ต่อไป ผู้ประกอบการจะไม่ผลิตสินค้าเพราะขาดทุน สินค้าก็ไม่มีในตลาด ราคาจะแพงและประชาชนก็จะขาดแคลน” เป็นความเห็นที่ตรงไปตรงมา กระชับและชัดเจน
ทั้งนี้ ดร.นิพนธ์อธิบายเหตุผลว่าสินค้าจำนวนมากในทั่วโลกไม่เฉพาะประเทศไทยที่มีการปรับราคาขึ้น จากปัจจัยภายนอกประเทศ จากสถานการณ์โควิด-19 มาถึงเรื่องของสงคราม สถานการณ์โลกร้อน รวมไปถึงล่าสุด สหรัฐอเมริกามีการปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ย แม้จะขึ้นช้าแต่ขึ้นในอัตราที่สูง ส่งผลให้เกิดการช็อกตลาดเงินทั่วโลก ค่าเงินสหรัฐอเมริกาแข็งค่า เงินหลายประเทศรวมทั้งเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงอย่างมาก ส่งผลให้วัตถุดิบและสินค้านำเข้าทั่วโลกแพงขึ้น สินค้าหลายตัวในประเทศจึงขอปรับราคา แต่ถูกมาตรการของกระทรวงพาณิชย์คุมราคาไว้ … นับเป็นสิ่งที่น่ากังวล
ความกังวลดังกล่าวน่าจะหมายถึงการคุมราคาขายไม่ให้ล้อตามต้นทุนนอกจากจะส่งผลเสียต่อโครงสร้างธุรกิจต่างๆ ของเกษตรกร หรือผู้ประกอบการแล้ว ยังกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง ทั้งนี้ ดร.นิพนธ์ได้เสนอทางออกที่เหมาะสมภายใต้สถานการณ์นี้ คือการค่อยๆ ปล่อยให้สินค้าต่างๆ ที่มีต้นทุนสูงขึ้นให้สามารถปรับขึ้นราคาได้ตามกลไกตลาด โดยรัฐต้องให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคทุกด้าน เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ และไม่เกิดความกังวลจนเกินไป ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงการกักตุนสินค้าของประชาชนที่อาจทำให้ไทยต้องตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนอาหาร
สุดท้ายแล้ว ผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าควบคุม 51 รายการที่มีทั้งเกษตรกรและภาคเอกชนหลากหลายอุตสาหกรรม จะสามารถพยุงธุรกิจให้ตลอดรอดฝั่ง ท่ามกลางวิกฤตการณ์หลากหลายนี้ได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์ เพราะเขาเหล่านั้นไม่สามารถขึ้นราคาขายตามต้นทุนได้ตราบที่กระทรวงไม่อนุญาต หวังว่าคำกล่าวที่ว่า “การขึ้นราคาสินค้า ต้องใช้ Win-Win Model ให้ทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภคอยู่ร่วมกันได้” จะไม่ใช่เพียงลมปากที่ใช้หาเสียงก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง จนนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจที่เกินต้าน.
โดย สมรรถพล ยุทธพิชัย