มาเลเซียเปิดตลาดรับไข่ไก่ไทยครั้งแรก

Livestock+

กรมปศุสัตว์เผยสถานการณ์ไข่ไก่ขาดแคลนในต่างประเทศ เปิดโอกาสไทยส่งออกไปมาเลเซีย

กรมปศุสัตว์เผยข่าวดีอีกครั้ง เมื่อประเทศมาเลเซีย ได้แจ้งอนุญาตการนำเข้าไข่ไก่สดจากประเทศไทย เป็นครั้งแรก หลังจากเดือนมีนาคม 2566 ไต้หวันเพิ่งเปิดตลาดจากปัญหาการระบาดของไข้หวัดนกในภูมิภาค ตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นในมาตรฐานการผลิต คุณภาพ และความปลอดภัยทางอาหารของไทย ส่งผลดีต่อการรักษาสมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภค สร้างเสถียรภาพด้านราคาที่เกษตรกรไทยจำหน่ายในประเทศ

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า หน่วยงาน Department of Veterinary Services (DVS) ของประเทศมาเลเซีย ได้แจ้งอนุญาตการนำเข้าไข่ไก่สดจากประเทศไทยเป็นครั้งแรก   โดยการเปิดตลาดครั้งนี้เป็นการเปิดตลาดเป็นกรณีพิเศษ จากข้อกังวลของรัฐบาลมาเลเซียต่อสถานการณ์สินค้าไข่ไก่สดขาดแคลนจากปัญหาสงครามรัสเซีย – ยูเครน

ส่งผลกระทบให้ปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลน จนผู้ผลิตไข่ไก่ในมาเลเซียต้องลดกำลังการผลิตลง ทำให้ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น อินเดีย และศรีลังกา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 และ

ล่าสุดเปิดให้นำเข้าจากประเทศไทย โดยมีผลทันทีและจะมีผลถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 และคาดว่ามาเลเซียจะยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าไข่ไก่จากต่างประเทศอีก 6 เดือนนับจากนี้ สำหรับการส่งออกไข่ไก่จากประเทศไทยนั้น ล่าสุดมีผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจส่งออกไข่ไก่ไปมาเลเซียแล้ว จำนวน 4 ราย

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์

ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไข่ไก่ได้ประมาณ 43 ล้านฟองต่อวัน มีการส่งออกประมาณ 1.5 ล้านฟองต่อวัน ซึ่งการเปิดตลาดส่งออกเพิ่มเติมดังกล่าว จะไม่กระทบต่อการบริโภคภายในประเทศอย่างแน่นอน และคาดว่าจากนี้ไปจะมีการเปิดตลาดของไข่สดอีกหลายประเทศเพื่อสร้างตลาดส่งออกใหม่ จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถรักษาระดับการผลิตและการบริโภคให้ใกล้เคียงภาวะสมดุลได้อย่างต่อเนื่อง

ผลสำเร็จจากการเปิดตลาดการส่งออก ไข่ไก่สดเพิ่มในครั้งนี้ มาจากความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหารไทย ที่กรมปศุสัตว์กำกับ ดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยอาหาร ตั้งแต่แหล่งที่มาของสัตว์จากฟาร์มมาตรฐาน GAP จนถึงศูนย์รวบรวมและแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ที่ได้มาตรฐาน GMP, GHPs และ HACCP สอดคล้องตามข้อกำหนดของกฎหมายในประเทศ ตามระเบียบของประเทศคู่ค้าและตามหลักสากล.