ทริปเปิล เอ ไบโอเทค MOU มจธ. พัฒนา บาซิลัส ซับติลิส ที่สร้างโปรตีนของไวรัส ASF ปรากฏอยู่บนผิวสปอร์

PIG&PORK

สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับ บริษัท ทริปเปิ้ล เอ ไบโอเทค จำกัด ร่วมลงนาม สัญญารับจ้างวิจัยและพัฒนา (MOU) โครงการพัฒนาบาซิลลัสทิลิสที่สามารถสร้างโปรตีน ของ ไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกรปรากฏอยู่บนผิวสปอร์ ระหว่าง  เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ อาคาร BRI 206 ห้องเทียนทะเล 2 อาคารวิจัยและนวัตกรรมกระบวนการชีวภาพ มจธ.บางขุนเทียน โดยผู้ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดย ดร.อรรณพ นพรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ และ น.สพ.จตุรงค์ เอกวัฒน์พานิชย์ กรรมการบริหาร บริษัท ทริปเปิ้ล เอ ไบโอเทค จำกัด

ดร.อรรณพ นพรัตน์ กล่าวว่า สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. ซึ่งเป็นหน่วยงาน เพื่อทำาการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นภายในประเทศ และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ โดยสัญญารับจ้างวิจัยและพัฒนา โครงการพัฒนาบาซิลลัสซับทิลิสที่สามารถสร้างโปรตีนของไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกรปรากฏอยู่บนผิวสปอร์ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี 

“โครงการนี้เป็นความสนใจร่วมกันเพื่อประสานความร่วมมือด้านงานวิจัยและบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการ เพื่อศึกษาวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อโรคระบาดในสุกรที่เกิดจากเชื้อไวรัส ASF หรือ เชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการระบาด ในประเทศที่สามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยาสำหรับสัตว์ได้ และเป็นความสำคัญในการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อประโยชน์ในการวิจัยและพัฒนาอย่าง ซึ่งถือเป็นความร่วมมือโครงการฯ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในระดับชาติ” ดร.อรรณพกล่าว

น.สพ.จตุรงค์ เอกวัฒน์พานิชย์ กล่าวว่า บริษัท ทริปเปิล เอ ไบโอเทค จำกัด ได้รับโอกาสที่ดียิ่งในความร่วมมือทางวิชาการครั้งสำคัญ ใน “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนา บาซิลัส ซับติลิส ที่สามารถสร้างโปรตีนของไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกรปรากฏอยู่บนผิวสปอร์” กับทาง สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ

โดยโครงการนี้ เป็นโครงการที่จะช่วยเปิดมิติใหม่ของโอกาสในการต่อสู้กับปัญหาการเลี้ยงสุกรในภาวะที่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ยังคงเป็นปัญหาที่ก่อความเสียหายมูลค่ามหาศาลให้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทย และภูมิภาคอื่นๆ ของโลก และในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการที่เหมาะสมที่จะสามารถขจัดโรคนี้ให้หมดไปได้โดยง่าย

โครงการความร่วมมือนี้ ทางบริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลงานที่เป็นผลผลิตจากงานวิจัยนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรของไทย สามารถเอาชนะปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรได้ จนเกษตรกรสามารถกลับมาเริ่มต้นสร้างผลิตผลได้อย่างมีประสิทธิภาพที่มากขึ้น และนำไปสู่การเป็นประเทศต้นแบบในอาเซียนที่สามารถจัดการกับปัญหาโรคดังกล่าวได้ จนนำไปสู่การส่งออกผลิตภัณฑ์จากความร่วมมือนี้ ไปสู่ประเทศเป้าหมายต่างๆ ในโลก

“ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่เข้มแข็ง ระหว่าง สถาบันฯ และ บริษัทฯ ในการที่จะพัฒนางานวิจัย-นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืน ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ของทั้ง มนุษย์ และสัตว์ ตลอดจนเพื่อดูแลโลกใบนี้ของเรา เพื่อคนในรุ่นลูกรุ่นหลานของเราในอนาคต” น.สพ.จตุรงค์กล่าว

น.สพ.จตุรงค์ เอกวัฒน์พานิชย์

น.สพ.จตุรงค์กล่าวว่า บริษัท ทริปเปิ้ล เอ ไบโอเทค จำกัด มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของสถาบันวิจัยฯ ของ มจธ. เพราะมีความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีทีมนักวิจัยที่มีประสบการณ์ และทีมนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดที่ทันสมัยกับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทันยุคของการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่รวดเร็ว อาทิ สภาวะการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีที่เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตต่างๆ และบริษัทฯ ก่อนนี้ได้ร่วมงานกับทาง มจธ. มาแล้ว ในงานวิจัยอื่นๆ และทาง มจธ. โดยทีมวิจัย ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

“บาซิลลัส ซับทิลิส มีความสามารถในการผลิตโปรตีนของไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร  โดยที่โปรตีนของไวรัสถูกส่งให้ไปปรากฏอยู่บนผิวสปอร์  เพื่อเพิ่มโอกาสในการถูกตรวจจับได้โดยเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินอาหาร และนำไปสู่การกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่จำเพาะกับโปรตีนของไวรัสที่อยู่บนผิวสปอร์ได้” น.สพ.จตุรงค์กล่าว

น.สพ.จตุรงค์กล่าวต่อว่า การนำเทคโนโลยีที่ได้รับการวิจัยพัฒนานี้ไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพของการเลี้ยงสุกรทั้ง ในประเทศเราและในภูมิภาคต่างๆ ของโลก นั้น ทางบริษัทมีแผนงานที่พร้อมสำหรับการทำงานทางด้านธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และหากเมื่อผลิตภัณฑ์ที่ได้จากงานวิจัยนี้ได้ผลิตออกมาอย่างสมบูรณ์ จะทำการนำเสนอให้กับเกษตรกรทั้ง ฟาร์มขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก

“สิ่งที่เรามุ่งหวังตั้งใจ คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้มีวิธีการที่สามารถกลับมาเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงสุกรให้มากขึ้น และสามารถต่อสู้กับภาวะปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ได้ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้กับภาครัฐเพื่อช่วยสงเสริมการเลี้ยงสุกรให้สามารถกลับมาเข้มแข็งได้เหมือนเมื่อก่อนการระบาดของโรคดังกล่าว หากทั้งประเทศพร้อมใจกันที่จะจัดการให้ปัญหา โรคอหิวาต์ แอฟริกาในสุกร ให้ลดลงจนสามารถควบคุมได้และเกษตรกรมีความเชื่อมั่น จากนั้นเราจะก้าวต่อไปเพื่อให้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่สำคัญของ อาเซี่ยนและของภูมิภาคต่างๆ ของโลกต่อไป” น.สพ.จตุรงค์กล่าว

น.สพ.จตุรงค์กล่าวต่อว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจะได้รับประโยชน์อย่างดี แม้การลงทุนทางด้าน ไบโอซิเคียวริตี้ ของเกษตรกรจะไม่มาก หรืออยู่ในสภาวะที่ไม่สมบูรณ์ ก็สามารถเลี้ยงได้โดยใช้ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยนี้ รวมถึงเราได้เตรียมโซลูชั่นส์ หรือวิธีการที่สามารถจัดการร่วมกับผลิตภัณฑ์ในงานวิจัยนี้ อาทิ การตรวจระดับภูมิคุ้มกันและทำแผนภูมิภูมิคุ้มกันเพื่อตรวจสอบความสามารถในการป้องกันของระบบภูมิคุ้มกันต่อโรค อหิวาต์แอฟริกาในสุกร ตลอดจนการใช้เครื่องมือเชิงคุณภาพในการตรวจสอบปัญหาก่อนที่สุกรจะแสดงอาการของโรค

“ในอนาคตบริษัทมีแผนงานขยายงานความร่วมมือกับ มจธ. เพื่อเพิ่มศักยภาพของเทคโนโลยีใหม่ๆไปสู่วงการธุรกิจ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร เรามีแผนวิจัยต่อเนื่องในการใช้ โปรไบโอติคเป็นรูปแบบในการสร้างภูมิคุ้มกันในสุกร เพื่อป้องกันและจัดการปัญหาต่างๆของโรคภายในฟาร์ม ทั้ง โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร, พีอาร์อาร์เอส, พีอีดี, เอฟเอ็มดี, เซอร์โคไวรัส เป็นต้น และขยายการวิจัยไปสู่ สัตว์ชนิดอื่นๆ อาทิเช่น สัตว์เศรษฐกิจขนาดใหญ่ สัตว์ปีก สัตว์เลี้ยง และในมนุษย์” น.สพ.จตุรงค์กล่าว.