การเลี้ยงกุ้ง ในโรงเรือนระบบปิด ฟาร์มบางสระเก้า ต้นแบบเลี้ยงกุ้งปลอดสาร
การเลี้ยงกุ้ง ในโรงเรือนระบบปิด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดฟาร์มเลี้ยงกุ้งโรงเรือนระบบปิด ฟาร์มบางสระเก้า กระบวนการเลี้ยงกุ้งที่ปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะ ประหยัดการใช้น้ำ ลดต้นทุน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม เชื้อโรค และความท้าทายในอนาคต และส่งมอบอาหารปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในโรงเรือนระบบปิด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต ไม่ใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะ เป็นระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การผลิตอาหารปลอดภัย ณ ฟาร์มบางสระเก้า อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี
นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ จึงได้ทุ่มเทศึกษาและวิจัยพัฒนารูปแบบการเลี้ยงกุ้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อาทิ ความผันผวนทางสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน และโรคระบาด เพื่อให้ได้ผลผลิตกุ้งที่สด สะอาด ไม่ใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะ ปลอดภัย ป้องกันความเสี่ยงจากเชื้อโรค และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางจะช่วยการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมกุ้ง ทั้งนี้ ฟาร์มบางสระเก้า เป็นฟาร์มต้นแบบที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากฟาร์มร้อยเพชร ครอบคลุมพื้นที่ 600 ไร่ เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 มีโรงเรือนเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในระบบปิด มีการป้องกันพาหะนำโรคกุ้งทุกชนิด ไม่ให้เล็ดลอดเข้าสู่ระบบการเลี้ยงได้ และโรงเรือนมีระบบควบคุมสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงให้เหมาะสม ใช้ระบบม่านระบายอากาศที่สามารถรักษาอุณหภูมิในบ่อเลี้ยงให้อยู่ในระหว่าง 28-30 องศาเซลเซียสตลอดเวลา ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่กุ้งอยู่สบาย กินอาหารได้ดีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าสภาวะแวดล้อมภายนอกจะผันแปรอย่างไร ช่วยให้สามารถเลี้ยงกุ้งได้ทุกฤดูกาล
“การพัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้งในโรงเรือนระบบปิด ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย จะทำให้กระบวนการผลิตกุ้ง สามารถรองรับความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งกระบวนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้”รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าว
นายเปรมศักดิ์ กล่าวว่า ฟาร์มบางสระเก้า ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในกระบวนการเลี้ยง เพื่อลดการใช้สารเคมี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การเตรียมน้ำ จะใช้เครื่องกรอง Ultra Filtration (UF) ที่จะช่วยกรองน้ำที่จะนำไปใช้ในกระบวนการเลี้ยงได้ทั้งหมด ปราศจากเชื้อโรคต่างๆ โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ส่วนระบบการจัดการน้ำภายในบ่อเลี้ยงกุ้ง นำเทคโนโลยีไบโอฟลอค (Biofloc Technology) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยในการจัดการของเสียในระบบการเลี้ยงกุ้ง ที่ใช้การเติมจุลินทรีย์ ที่ผ่านการวิจัยและคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีประโยชน์ต่อกุ้ง และปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งช่วยลดการใช้น้ำในการผลิต ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มากับน้ำได้
นายเปรมศักดิ์ กล่าวว่า การจัดการฟาร์มโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (Probiotics) หรือ จุลินทรีพย์ที่เป็นมิตรกับกุ้งมาช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ฟาร์มบางสระเก้าและฟาร์มกุ้งของซีพีเอฟไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยง เพิ่มความมั่นใจในด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดทั้งกระบวนการผลิต ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบการเลี้ยงกุ้งแบบระบบเปิด กับระบบปิด จะพบว่า การเลี้ยงกุ้งระบบปิดมีระยะการเลี้ยงเพียง 105 วันสามารถให้ผลผลิตสูงถึง 8 ตันต่อไร่ต่อรุ่น รวมทั้ง ซีพีเอฟมีการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงแบบครบวงจร ใช้การอนุบาลลูกกุ้งก่อนย้ายไปเลี้ยงในบ่อใหญ่ ร่วมกับการใช้เทคนิคการทยอยจับกุ้งออกบางส่วน เพื่อให้ได้กุ้งขนาดต่างๆ ตรงตามที่ตลาดต้องการ
“การเลี้ยงกุ้งในโรงเรือนระบบปิด ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมและนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับ ซีพีเอฟที่ให้ความสำคัญ ในเรื่องของการพัฒนาพันธุ์กุ้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้พันธุ์กุ้งของซีพีเอฟมีความแข็งแรง ปลอดโรค และโตเร็ว จึงเป็นแนวทางที่พัฒนาให้อุตสาหกรรมกุ้งของไทยมีความมั่นคง และยั่งยืน” นายเปรมศักดิ์ กล่าว