สถานการณ์ตลาดลำไย ปี 2561

สถานการณ์ตลาดลำไย ปี 2561

NEWS

สถานการณ์ตลาดลำไย ปี 2561

สถานการณ์ตลาดลำไย แนวโน้มการผลิต การตลาดลำไย ปี 2561 ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง และจังหวัดตาก จากการรายงานของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 40,913 ตัน คิดเป็นร้อยละ 6.7 โดยเป็นผลผลิตในฤดู 381,498 ตัน (58%) และนอกฤดู 272,831 ตัน (42%)

สถานการณ์ตลาดลำไย ปี 2561
สถานการณ์ตลาดลำไย ปี 2561

สำหรับประมาณการผลผลิตลำไยในฤดู ทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือ จะมีผลผลิตรวม 381,498 ตัน แบ่งเป็น เชียงใหม่ พื้นที่ปลูก 195,670 ไร่ ผลผลิต 137,219 ตัน ลำพูน พื้นที่ปลูก 182,391 ไร่ ผลผลิต 125,120 ตัน เชียงราย พื้นที่ปลูก 130,902 ไร่ ผลผลิต 63,357 ตัน พะเยา พื้นที่ปลูก 56,383 ไร่ ผลผลิต 25,632 ตัน น่าน พื้นที่ปลูก 33,321 ไร่ ผลผลิต 21,425 ตัน ลำปาง พื้นที่ปลูก 18,702 ไร่ ผลผลิต 5,293 ตัน ตาก พื้นที่ปลูก 3,855 ไร่ พื้นที่ปลูก 1,747 ตัน และแพร่ พื้นที่ปลูก 4,718 ไร่ ผลผลิต 1,705 ตัน

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการวางแผนบริหารจัดการผลผลิตลำไยในฤดูเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีแผนบริหารจัดการผลผลิตลำไยเชิงปริมาณ แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ

  1. การกระจายผลผลิตภายในประเทศ ได้แก่ บริโภคสดตลาดในประเทศ 28,084 ตัน คิดเป็นร้อยละ 7.36
  2. แปรรูป ได้แก่ อบแห้งทั้งเปลือก 227,251 ตัน, อบแห้งเนื้อสีทอง 18,530 ตัน และอื่นๆ (เช่น โรงงานผลไม้กระป๋อง/น้ำสกัดผลไม้เข้มข้น/แช่แข็ง) 25,089 ตัน คิดเป็นร้อยละ 71 และ
  3. ลำไยสดส่งออก 82,544 ตัน คิดเป็นร้อยละ 21.61 โดยมอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและให้ข้อมูลเกษตรกรเพื่อใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งพิจารณาวางแผนและกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับจังหวัด

ขณะนี้มีผลผลิตที่เก็บเกี่ยวแล้ว จำนวน 4,891 ตัน คิดเป็นร้อยละ 1 ราคาจำหน่ายลำไยผลสดลูกร่วงอยู่ที่ประมาณ 16-17 บาทต่อกิโลกรัม และลำไยเกรด AA อยู่ที่ประมาณ 27-30 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนแผนบริหารจัดการเชิงคุณภาพกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการโครงการรณรงค์การผลิตลำไยคุณภาพ ปี 2561 โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (ลำไย) ในการส่งเสริมเกษตรกรผลิตลำไยคุณภาพ จำนวน 6,543 ราย เพื่อให้เกษตรกรผลิตลำไยคุณภาพ เป็นเกรด AA และ A โดยคาดว่าจะมีผลผลิตลำไยคุณภาพ ประมาณ 27,000 ตัน นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตลำไยนอกฤดูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกษตรกรเกิดการยอมรับและปฏิบัติตาม และปรับเปลี่ยนมาผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้น