ถึงเวลา กรมศุลกากร ต้องขยับ ต่อลมหายใจฟาร์มหมูไทย

PIG&PORK

สัปดาห์ที่ผ่านมา น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ประกาศเดินหน้าประเทศไทยสู่ “Zero ASF” พร้อมมาตรการหลากหลาย ทั้งส่งเสริมเกษตรกรให้กลับมาเลี้ยงใหม่ด้วยการอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรเรื่องระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Biosecurity) ซึ่งเป็นระบบการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ให้เกษตรกรนำไปใช้ป้องกันโรคระบาดสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการปราบปรามหมูเถื่อน

เป็นอีกหนึ่งภาระกิจเร่งด่วน ที่กรมฯ ดำเนินงานอย่างเข้มแข็งและจริงจัง เพื่อป้องกันโรคที่อาจจะติดมากับเนื้อสัตว์และซากสัตว์ลักลอบนำเข้าได้ รวมถึงช่วยปกป้องเกษตรกรให้เดินหน้าอาชีพได้อย่างราบรื่น

เป็นที่ทราบกันดีในวงการปศุสัตว์ ว่า Zero ASF ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้เพราะเชื้อโรคดังกล่าวสามารถติดมากับ คน (ติดมาตามเสื้อผ้าที่สวมใส่) สัตว์ และสิ่งของได้ทั้งหมด แม้เพียงเล็กน้อยก็แพร่ระบาดได้รวดเร็วและติดง่ายมาก แต่ก็ไม่ยากเกินจะป้องกันไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาไปในพื้นเลี้ยงสัตว์รวมถึงเข้ามาในประเทศ

ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา “หมูเถื่อน” เริ่มเปิดตัวว่ามีขบวนการลักลอบนำเข้าจากประเทศทางตะวันตกทั้งทวีปยุโรป อเมริการเหนือและอเมริกาใต้ เพื่อฉวยโอกาสทำกำไรส่วนต่างระหว่างราคาเนื้อหมูในประเทศที่สูงเป็นประวัติการณ์

โดยราคาเนื้อแดงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เนื้อหมูสามชั้นขึ้นไปแตะ 230-250 บาทต่อกิโลกรัม แหล่งที่สินค้ามาขึ้นท่าหลักๆ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง หรือแล่นเรือลึกเข้ามาถึงท่าเรือคลองเตย เพื่อกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ ส่งผลให้โรงชำแหละไม่ซื้อหมูจากฟาร์มเกษตรกรตามปกติ เกษตรกรต้องร้องต่อกรมปศุสัตว์ให้ปราบปรามหมูผิดกฎหมายเป็นวาระเร่งด่วน



จนถึงวันนี้ กรมศุลกากร ยังไม่มีผลงาน “รุกคืบ” ปราบปรามหมูเถื่อน จับกุมด้วยตัวเองไม่เกิน 7 ครั้ง ซ้ำร้ายไม่มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้ถึงที่สุดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่เกษตรกรชี้เบาะแสช่องทางนำเข้าหลัก คือ ท่าเรือแหลมฉบัง มีเป็น 100 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่กรมฯ ทำเหมือนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ จับไม่ได้ บอกไม่มี สำแดงเท็จเป็นสินค้าอื่น อ้างเหตุผลต่างๆ นานา

ที่แปลก คือ กลับจับยาเสพติดเม็ดน้อยนิดที่ส่งเป็นพัสดุไปรษณีย์จากเยอรมนีมาที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิ รวมถึงจับกุมหมูยอจากเวียดนามโดยใช้สุนัขบีเกิ้ลดมกลิ่นที่ท่าอากาศยานเดียวกัน ทั้งที่ท่าเรือแหลมฉบังมีเครื่องเอ็กซ์เรย์เทคโนโลยีขั้นสูงมาก แต่กลับสแกนไม่เห็นสิ่งผิดกฎหมายใดๆ

ดังนั้น ควรนำเงินงบประมาณมาซื้อสุนัขพันธุ์บีเกิ้ลเพิ่มสัก 100 ตัว เพื่อดมกลิ่นหมูเถื่อนทุกตู้คอนเทนเนอร์ ช่วยประหยัดงบชาติได้มาก

ส่วนกรมปศุสัตว์ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเกษตรกรเห็นความทุกข์ครั้งนี้แล้ว จึงรีบตัดไฟแต่ต้นลมทั้งปราบปรามโดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคู่กับจัดระเบียบภายในองค์กรด้วยการโยกย้ายหัวหน้าด่านกักสัตว์ชายแดนหลายตำแหน่ง รวมถึงด่านที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่ออำนวยความสะดวกในการปราบปรามหมูเถื่อนอย่างจริงจัง

รวมถึงกำหนดแผนดักหน้า “โจร” ที่เปลี่ยนเส้นทางนำเข้าจากทางเรือมาเป็นทางบก เลาะตะเข็บชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว กัมพูชา เข้ามาเป็นกองทัพมด หาได้เล็ดลอดสายตาไปได้ ควบคู่กับการสอดล่องห้องเย็นเก็บสินค้าในทุกพื้นที่ไม่ให้มีการรับฝาก “หมูกล่อง” ผิดกฎหมาย และยังมีแผนตรวจสอบเขียงหมู ร้านค้าหมูในตลาดสด เพื่อสร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภคคนไทย

หากกรมศุลกากร จับคู่เต้นรำ ขยับไปพร้อมๆ กับกรมปศุสัตว์ ก็จะสามารถทำให้เหล่าร้ายยำเกรง เพราะการตรวจจับเข้มแข็งหมายถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียครั้งใหญ่ของกองโจร แต่เมื่อกรมศุลกากรที่ดาบอาญาสิทธิ์อยู่ในมือไม่ขยับเขยื้อน อ่อนกำลัง เกษตรกรไทยก็อยู่ยากจะหวังฝากชีวิตด้วยคงยากถึงยากที่สุด เพราะการผลิตสินค้าแล้วขายไม่ได้ก็เหมือนคนหายใจไม่ออก รอวันอากาศหมดปอดแล้วขาดใจตายในที่สุด.

เรื่องโดย : ปราบดา มหากุศล นักวิจัยสินค้าเกษตร.