กรุงเทพโปรดิ๊วส สนับสนุนเกษตรกรปลูกข้าวโพดมาตรฐาน GAP

Agri+

กรุงเทพโปรดิ๊วส ร่วมมือ สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ สนับสนุนเกษตรกรปลูกข้าวโพดมาตรฐาน GAP ย้ำนโยบายไม่รับซื้อ-ไม่นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากที่รุกป่าและการเผาแปลง

บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จับมือ สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ กรมส่งเสริมการเกษตร จัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในอำเภอโนนคูณ ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร สนับสนุนเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP (Good Agriculture Practice) พร้อมสร้างความเข้าใจต่อขั้นตอนการขายข้าวโพดให้บริษัทตามนโยบาย ไม่รับซื้อและไม่นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพื้นที่รุกป่าและมาจากการเผาตอซัง ลดสาเหตุฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 และหมอกควัน มุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ภายในปี 2593 สร้างความยั่งยืนให้กับสินค้าเกษตรและระบบการผลิตอาหารของโลก

ในการอบรม กรุงเทพโปรดิ๊วส ยังนำแอปพลิเคชั่น “ฟ.ฟาร์ม” ที่บริษัทพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นผู้ช่วยเกษตรกร ให้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเพาะปลูก  ข้อมูลล่วงหน้าเกี่ยวกับปริมาณฝน อุณหภูมิ ลม ข้อมูลราคาและการขายผลผลิต ตลอดจนคำแนะนำการจัดการตอซัง สนับสนุนเกษตรกรเพิ่มคุณภาพผลผลิตที่สามารถส่งตรงเข้าถึงโรงงานอาหารสัตว์

นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการ กรุงเทพโปรดิ๊วส กล่าวว่า บริษัทตระหนักถึงผลกระทบจากฝุ่น 2.5 ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุทั้งภาคอุตสาหกรรม การเกษตร การก่อสร้าง และอื่นๆ ทำให้เราริเริ่ม ระบบตรวจสอบย้อนกลับเป็นบริษัทแรกๆ ของประเทศไทย ในการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ปี 2559   ปัจจุบัน ข้าวโพดที่จัดหาสำหรับกิจการในประเทศไทยทั้งหมดสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าไม่ได้มาจากแหล่งที่มีการบุกรุกป่าและพื้นที่ที่มีการเผาตอซัง นอกจากนี้ยังนำระบบตรวจสอบย้อนกลับไปใช้ในกิจการของบริษัทในประเทศ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ บังคลาเทศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์

บริษัทยังทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ คู่ค้าธุรกิจ และเกษตรกร Public-Private Partnership  โดยให้คู่ค้าของบริษัททุกรายทั่วประเทศใช้ข้อมูลจุดความร้อนจากภาพถ่ายดาวเทียมตรวจจับการเผาแปลงข้าวโพดของเกษตรกรและรับซื้อผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับเท่านั้น ควบคู่กับการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีการเพาะปลูกที่ทันสมัยให้กับเกษตรกร.