ปุ๋ยสั่งตัด ยืนยันเห็นผลจริง ถ้าใช้ตามค่าดิน
ปุ๋ยสั่งตัด ยืนยันเห็นผลจริง ถ้าใช้ตามค่าดิน จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเกษตรประชารัฐ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผ่าน 2 โครงการ หนึ่งในนั้นคือ โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อน “โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร” เพื่อเป็นกลไกที่จะปฏิรูปการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุอาหารพืชเหมาะสม ตามค่าการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดินแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยสูงขึ้น ที่สำคัญยังสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ค่อนข้างมาก ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกพืชส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพดิน และชนิดพืช หลายรายใช้ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กระทรวงเกษตรฯจึงได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โดยผนึกกำลังร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขับเคลื่อนขยายผล “โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร” มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2561-2563)
โครงการฯดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรแจ้งความจำนงและสนใจที่จะเข้าโครงการฯแล้วกว่า 202 แห่ง จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ จำนวน 500 แห่ง ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เร่งขยายผลโครงการฯอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง อาทิ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการข้อมูลชุดดิน การใช้แผ่นที่ดิน การวิเคราะห์ดินแก่สมาชิก การเก็บตัวอย่างดินส่งตรวจ การใช้ชุดวิเคราะห์ดินอย่างง่าย (Test Kit) และการส่งโมบายยูนิต (Mobile unit) ลงพื้นที่เพื่อวางแผนการให้บริการผสมปุ๋ยและสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร เป็นต้น
“สถาบันเกษตรกรจะเป็นผู้จัดหาปุ๋ยสั่งตัดโดย ธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อัตราร้อยละ 2 ต่อปี วงเงินสินเชื่อรวม 3,600 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนจัดซื้อแม่ปุ๋ย มาให้บริการผสมปุ๋ยสั่งตัดที่มีคุณภาพเหมาะสมกับสภาพดินหรือชุดดินของแต่ละพื้นที่ พร้อมส่งจำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรทั่วไปในราคาย่อมเยา เพื่อรองรับความต้องการของสมาชิกและเกษตรกรที่มีความตื่นตัวและสนใจหันมาใช้ปุ๋ยสั่งตัดเพิ่มมากขึ้น คาดว่า ในปี 2562 โครงการฯจะเดินหน้าได้เต็มรูปแบบและเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น” นางสาวดุจเดือนกล่าว
การดำเนินการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ดินและปุ๋ย
นางสาวดุจเดือนกล่าวต่อถึงความคืบหน้าว่า ขณะนี้ได้มีการดำเนินการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ดินและปุ๋ย โดยในปี 2561 นี้ ได้ดำเนินการจัดอบรมด้วยกันทั้งหมด 6 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 จัดที่จังหวัดแพร่ รุ่นที่ 2 ที่จังหวัดปทุมธานี รุ่นที่ 3 ที่จังหวัดขอนแก่น รุ่นที่ 4 ที่จังหวัดนครราชสีมา รุ่นที่ 5 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ รุ่นที่ 6 ที่จังหวัดสงขลา
โดยหลักสูตรในการอบรม ประกอบด้วย การขับเคลื่อนโครงการผ่านสถาบันเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ การแปลผลข้อมูลดินและการใช้แผนที่ดิน โดยกรมพัฒนาที่ดิน การให้บริการปุ๋ยสั่งตัดที่มีคุณภาพในสถาบันเกษตรกร โดยกรมวิชาการเกษตร บรรยายการสนับสนุนสินเชื่อตามโครงการ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รู้จักดิน ปุ๋ย และการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง โดย ทีมปุ๋ยสั่งตัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้ง การฝึกปฏิบัติการตรวจ pH และ N P K ในดินแบบรวดเร็ว การแปลผลค่าวิเคราะห์และแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยทีมปุ๋ยสั่งตัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับทีมศูนย์จัดการดินและปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) กรมส่งเสริมการเกษตร
“โครงการจัดหาปุ๋ยสั่งตัดมุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรให้เหมาะสม เน้นให้เกษตรกรหันมาใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือชุดดิน และตรงตามความต้องการธาตุอาหารของพืช สามารถช่วยแต่งเติมการใช้ปุ๋ยได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งยังได้ปุ๋ยที่มีอาหารพืชเหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชที่เป็นปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นเกษตรกรต้องมีการวิเคราะห์ดินรายแปลงเพื่อเป็นข้อมูลใช้ในการจัดหาปุ๋ยสั่งตัดให้เหมาะสมกับดินและตรงชนิดพืช อนาคตคาดว่า ปุ๋ยสั่งตัดจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ กระสอบละ 100-300 บาท หรือตันละ 3,000-4,000 บาท หรือไม่น้อยกว่า 500 บาท/ไร่ และยังทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้นด้วย” รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว