สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ เตือนภัยเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ระวังสารพิษอันตรายในช่วงฤดูฝน
สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ เตือนภัยเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ระวังสารพิษอันตรายในช่วงฤดูฝน ที่อาจมีผลต่อสุขภาพของปศุสัตว์ ซึ่งการจัดแบ่งสารพิษจะแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มคาร์บาเมท ออร์กาโนฟอสเฟต และ กลุ่มไนเตรทไนไตรท์
นายสัตวแพทย์บรรจง จงรักษ์วัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กล่าวว่า ในฤดูฝนมีการชะล้างของสารเคมี โดยเฉพาะยาฆ่าแมลง และปุ๋ย เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จึงควรระมัดระวังในการปล่อยสัตว์ออกหากินตามทุ่งหญ้า และแหล่งน้ำ
โดยพิษจากสารพิษในกลุ่มคาร์บาเมทและออร์กาโนฟอสเฟต มีการใช้ในทางการเกษตรหรือเพื่อการป้องกันและกำจัดแมลง เห็บ พยาธิภายนอก สัตว์ที่อยู่ในสภาวะเครียด ซูบผอม หรืออยู่ระหว่างการให้นมจะเกิดการเป็นพิษได้ง่าย และมักพบอาการ น้ำลายไหล อาเจียน น้ำตาไหล ม่านตาหดตัว ไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่ายได้ เกร็งทั่วตัว อัมพาต ชัก และตาย
การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ให้กรอกน้ำสบู่อ่อนๆ เพื่อล้างพิษ จากนั้นให้ atropine sulfate ซึ่งเป็นยาต้านพิษของสารฆ่าแมลงชนิดนี้ได้ ในปริมาณ 0.1 – 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม
ส่วนพิษจากสารพิษในกลุ่มไนเตรทไนไตรท์ ซึ่งไนเตรทละลายน้ำได้ดี สัตว์จึงสามารถได้รับจากอาหารหรือน้ำที่มีการเจือปนอยู่ในปริมาณสูงทำให้เกิดการเป็นพิษ ในรายที่เป็นพิษรุนแรงสัตว์จะแสดงอาการป่วยภายใน 1 – 4 ชั่วโมงหลังจากได้รับสาร และตายอย่างรวดเร็ว อาการที่พบส่วนมาก คือ เนื้อเยื่อขาดออกซิเจนจะมีสีคล้ำ สัตว์กระวนกระวาย ล้มตัวลงนอนทันที หายใจขัด หอบ อ้าปากหายใจ น้ำลายไหล กล้ามเนื้อสั่น เกร็งทั้งตัว ชัก และตาย
การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ให้สารละลายmethylene blue ซึ่งเป็นสารเคมีที่ช่วยต้านพิษได้ ด้วยความเข้มข้น 2 – 4 % ในน้ำเกลือ ขนาด 8.8 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
“การจัดเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ขึ้นอยู่กับชนิดของสารพิษที่ต้องการตรวจ ดังนี้ สารพิษในกลุ่มคาร์บาเมทและออร์กาโนฟอสเฟต ให้จัดส่งตัวอย่างอาหารสัตว์ หรือสิ่งอื่นๆ ที่สัตว์กิน เช่น หญ้า ที่สงสัยว่าปนเปื้อนสารพิษ อาหารในกระเพาะสัตว์ อวัยวะ ภายใน อาทิ ไต ตับ และ ซีรัม ฯลฯ ส่วนสารพิษในกลุ่มไนเตรทไนไตรท์ ให้จัดส่งตัวอย่างพืชอาหารสัตว์ปริมาณ 100 กรัม น้ำ 50 มิลลิลิตร เลือดหรือซีรัมปริมาณ 10 มิลลิลิตร หากพบสัตว์แสดงความอาการผิดปกติ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในท้องที่โดยด่วน สอบถามรายละเอียดเพิมเติมได้ที่ โทร. 0 – 2579 – 8908 – 14 ต่อ 322 ”
ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติกล่าว