ASF ระบาดยุโรป ระวังอย่าให้มีเนื้อหมูเถื่อนเข้าไทย

PIG&PORK

เรื่องของหมูที่ไม่หมู โดยเฉพาะประเด็นโรค ASF หรืออหิวาต์แอฟริกาในสุกร ยังคงเป็นความกังวลของหลายๆประเทศ ล่าสุด สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากเมืองฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 65 ว่า

พบการระบาดของ ASF ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเป็นครั้งแรก โดยพบที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในเมือง Emsland รัฐ Lower Saxony ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสุกรที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี

ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดสำคัญ เช่น จีน ซึ่งระงับการนำเข้าหมูจากเยอรมันตั้งแต่ปี 2020 การพบการระบาดครั้งนี้ ตอกย้ำว่าเป็นเรื่องยากที่จีนจะกลับมานำเข้าหมูจากเยอรมันอีกครั้ง จากปกติหมูเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้แก่เยอรมันได้ถึงประมาณปีละ 1 พันล้านยูโร หรือประมาณปีละ 37,000 ล้านบาท

ที่สำคัญ การระบาดของโรค ASF ในครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะระบาดไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศสด้วย

แม้อยู่คนละซีกโลกแต่ข่าวดังกล่าวก็สร้างความกังวลใจมาถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในประเทศไทยด้วย เนื่องจากขณะนี้ไทยเราสามารถควบคุมการกระจายของโรค ASF ในประเทศได้แล้ว หากแต่อาจต้องใช้เวลาถึงสิ้นปี กว่าผลผลิตหมูจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เป็นเหตุให้เกิด

“ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน”

มีหมูเถื่อนวางจำหน่ายอยู่ในหลายๆตลาด เช่น ราชบุรี นครปฐม ภาคเหนือ และภาคอีสาน โดยแหล่งที่มาส่วนใหญ่จะเป็นหมูแช่แข็งจากประเทศแถบยุโรป เช่น เยอรมัน เดนมาร์ค แล้วสำแดงเท็จเป็น อาหารสัตว์บ้าง อาหารทะเลบ้าง จนทำให้เล็ดรอดสายตาเจ้าหน้าที่ไป

ขณะที่เชื้อ ASF เป็นเชื้อที่คงทนต่ออุณหภูมิแช่แข็ง สามารถเกาะติดอยู่กับเนื้อสัตว์แช่แข็งได้นานนับปี สะสมในอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้หลายปี ดังนั้น หากยังไม่สามารถขจัดขบวนการดังกล่าวให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ย่อมเป็นความเสี่ยงสำคัญ ที่จะนำพาเอาเชื้อ ASF เข้าสู่อาณาจักรไทยอีกครั้ง

เป็นอันตรายเหลือเกินต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ต่อห่วงโซ่การผลิตหมู และเชื่อมโยงไปถึงอันตรายต่อปริมาณผลผลิตหมู และระดับราคาหมูของประเทศไทย

ปัจจุบันประเทศไทย ผ่านความบอบช้ำจาก ASF รอบแรก เข้าสู่ช่วงของการฟื้นฟูและสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรกล้าที่จะลงหมูเข้าเลี้ยง เพื่อเร่งเพิ่มผลผลิตหมูเข้าสู่ระบบ ลดปัญหาปริมาณหมูมีน้อย ซึ่งจะช่วยให้ระดับราคาเข้าสู่ภาวะสมดุลโดยเร็ว

ทุกภาคส่วนล้วนช่วยกันวางมาตรการต่างๆ ที่จะเอื้อให้เกษตรกรมีความมั่นใจ ทั้งเรื่องของฟาร์มมาตรฐาน ที่มีการกำหนดมาตรฐาน GFM : Good Farming Management สำหรับฟาร์มขนาดเล็ก และมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) สำหรับฟาร์มขนาดกลางและใหญ่ รวมถึงการวางระบบป้องกันโรค มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องอยู่ร่วมกับชุมชนได้

ดังนั้น อย่าให้แนวโน้มดีๆ ที่กำลังเกิดขึ้นต้องสะดุด เพราะเจอหมูเถื่อนจากยุโรปที่พกพาเชื้อ ASF เข้ามา

แม้เชื้อนี้จะไม่ใช่เชื้อที่ติดต่อสู่คน แต่มันก็ทำลายผู้คนในห่วงโซ่การผลิตหมูได้ทั้งระบบ ภาครัฐ ทั้งกรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร และ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตรวจสอบการลักลอบดังกล่าว

จึงควรต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อเร่งขจัดหมูเถื่อนอย่างเด็ดขาด เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ก่อนที่ประเทศไทยจะประสบปัญหาหมูแบบไม่รู้จบ.

บทความโดย : วลัญช์ ศรัทธา