Zero ASF จะสำเร็จ ได้ หรือ ไม่ อยู่ที่ใคร.?

PIG&PORK

โรค ASF ที่ระบาดในสุกร เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก พอๆ กับโควิด-19 ที่ระบาดในมนุษย์ แต่ที่แย่กว่าก็คือ ASF เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 100 ปีในแทบทุกภูมิภาคของโลก กลับยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน ทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหมูทั่วโลก ต่างขยาดและหวาดกลัวโรคนี้กันมาก

ทางที่ดีที่สุดคือ “การป้องกัน” ทุกวิถีทางไม่ให้เกิดโรค แต่สุดท้ายหากเกิดแล้วก็จำเป็นต้องจำกัดพื้นที่ระบาดให้น้อยที่สุด ทำลายพาหะที่อาจแพร่เชื้อให้ได้มากที่สุด เรียกได้ว่า การบริหารจัดการโรค ASF ให้ได้นั้นเป็น “งานหิน” อีกงานหนึ่งของ “กรมปศุสัตว์” ทีเดียว

ล่าสุด ท่านอธิบดีคนใหม่ “น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์” ประกาศเป้าหมาย Zero ASF ให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทุกคนใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง แม้จะรู้ว่ายากแต่เขื่อว่าทุกภาคส่วนในแวดวงหมูย่อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเลี้ยงหมูให้รอด และเพื่อความมั่นใจในการลงหมูเข้าเลี้ยงใหม่ของเกษตรไทย ซึ่งจะทำให้การเพิ่มผลผลิตหมูขับเคลื่อนไปได้จนเข้าสู่จุดสมดุลที่เหมาะสม

ประเทศไทยประกาศพบโรค ASF เมื่อต้นปี 2565 ซึ่งก็ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณแม่พันธุ์และสุกรขุนที่หายไปจากระบบนับล้านตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่ตัดสินใจเลิกอาชีพไปราว 50% ส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณเนื้อหมูไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค และระดับราคาขยับขึ้นตามกลไกตลาด หรือหลักอุปสงค์อุปทานจนกระทั่งเป็นช่องว่างให้เกิด “ขบวนการหมูเถื่อน”

ลักลอบนำหมูที่ไม่ผ่านการตรวจโรคเข้ามายังราชอาณาจักรไทยและจำหน่ายในราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตหมูไทย ซ้ำเติมและทำร้ายเกษตรกรคนเลี้ยงหมูของไทยที่ยังเหลืออยู่อีกครึ่งหนึ่ง ให้ต้องตัดสินใจอีกครั้งว่าจะไปต่อหรือเลิกอาชีพดี ซึ่งหากประเทศไทยไม่เหลือเกษตรกรเลี้ยงหมูอีกต่อไป ย่อมกระทบความมั่นคงทางอาหารของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขบวนการนี้เองที่เป็น “ความเสี่ยง” ของการนำเข้าโรค ASF เข้ามา รวมถึงเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้โรค ASF ที่เคยพบในประเทศไทยต้องกลายพันธุ์ ซึ่งยากในการควบคุมมากขึ้นไปอีก เนื่องจากหมูเหล่านั้นถูกบรรจุเป็นหมูกล่องแช่แข็ง มีต้นทางมาจากประเทศแถบยุโรปซึ่งกำลังมี ASF ระบาด ขณะที่เชื้อนี้มีความทนทานสูงทั้งในอุณหภูมิติดลบอย่างในห้องแช่แข็ง หรือแม้แต่ในสิ่งแวดล้อมต่างๆ “หมูเถื่อน”

จึงนับเป็นอุปสรรคตัวเป้งที่จะขัดขวางเป้าหมาย ZERO ASF ของกรมปศุสัตว์ ที่จำเป็นต้องเร่งกำจัดเสียให้สิ้น ซึ่งนอกจากจะลดความเสี่ยงหรือเรื่องโรค ASF แล้ว ยังเป็นปัจจัยสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร ว่าจะไม่มีหมูต่างถิ่นเข้ามาเบียดเบียนตลาดด้วย

“การส่งเสริมให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงสัตว์ได้ต่อเนื่อง ต้องประคับประคองดูแลไม่ให้โรคระบาดกลับมาซ้ำได้ แต่หากยังมีชิ้นส่วนสุกรหรือตัวสัตว์ที่มีโรคเข้ามา เป้าหมายที่ ASF เป็นศูนย์จะเป็นไปได้ยาก รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรยังบอบช้ำและอยู่ระหว่างฟื้นฟู

หากมีการลักลอบนำเข้ามาอีกก็จะยิ่งทำร้ายเกษตรกร เพราะการนำหมูเข้าเลี้ยงใหม่ต้องลงทุนสูง เกษตรกรมีความเสี่ยงที่จะขาดทุน และหลายรายอาจท้อแท้จนไม่อยากกลับเข้ามาเลี้ยงใหม่ เพราะมีการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนสุกรราคาถูกมาแย่งตลาด

ซึ่งจะทำให้เกษตรกรล้มเลิกอาชีพหายไป และยากที่จะกลับเข้ามาเลี้ยงใหม่ดังที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ” สะท้อนมุมมองของอธิบดีกรมปศุสัตว์ที่แสดงออกถึงความเข้าใจปัญหาและพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นกำลังใจชั้นดีของเกษตรกรคนเลี้ยงหมูทุกคน

เมื่ออธิบดีกรมปศุสัตว์ประกาศสงครามกับ ”ขบวนการหมูเถื่อน” เพื่อมุ่งสู่ Zero ASF แล้ว ก็ต้องขอเตือนผู้เกี่ยวข้องในขบวนการนี้ให้เตรียมตัวเตรียมใจ และย้ำชัดๆอีกทีว่า การลักลอบนำเข้าสัตว์หรือชิ้นส่วนเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 คาดว่าอีกไม่นานจากนี้คงได้เห็น “ตัวบงการ” เดินคอตกเข้าซังเต.

โดย: สมคิด เรืองณรงค์