ไผ่สิงห์ทองฟาร์ม จับมือ ไบโอซายน์ ติดตั้งระบบฟอกกลิ่นฟาร์มสุกร

PIG&PORK

ไผ่สิงห์ทองฟาร์ม เดินหน้าจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหามลภาวะจากฟาร์ม โดยร่วมมือกับ “BIS” นำร่องติดตั้งระบบฟอกกลิ่น ท้ายโรงเรือนฟาร์มสุกร ขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ไม่ให้ส่งผลกระทบกับชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้ฟาร์ม ซึ่งเป็นสิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้ประกอบการฟาร์มสุกรต้องให้ความสำคัญ เพราะการจัดการมลภาวะและสภาพแวดล้อมภายในฟาร์มปศุสัตว์ นับวันยิ่งเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ปรับตัว อาจถูกร้องเรียนจากชาวบ้านและชุมชน จนอาจต้องเลิกกิจการไปในที่สุด

คุณไพโรจน์ พวงศิริ และคุณกิตติพงศ์ พวงศิริ และทีมงานไบโอซายน์

คุณไพโรจน์ พวงศิริ หรือ ป๋าโรจน์ ประธานกรรมการผู้จัดการ ผู้ก่อตั้ง ไผ่สิงห์ทองฟาร์ม ตำบลไผ่ดำพัฒนา อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เปิดเผยกับ พิกแอนด์พอร์ค ว่า บริษัท ไผ่สิงห์ทองฟาร์ม ก่อตั้งในปี 2545 ดำเนินกิจการเลี้ยงสุกรพันธุ์ผลิตลูกสุกร ก่อนมาสร้างฟาร์มเลี้ยงสุกรขุน จากนั้นก็ขยายมาดำเนินกิจการเลี้ยงไก่ไข่

ปัจจุบันมีแม่พันธุ์สุกรรวม 15,000 แม่ สุกรขุนประมาณ 60,000 ตัวและไก่ไข่ 400,000 ตัว ซึ่งในช่วงแรกที่เริ่มเลี้ยงแม่พันธุ์ ได้สร้างฟาร์มห่างจากชุมชนพอสมควร รอบฟาร์มส่วนใหญ่เป็นนาข้าว และบ่อทราย เป็นหลัก

แต่หลังจากขยายกำลังการผลิต ชุมชนก็ขยายตามเข้ามาใกล้ จึงต้องให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยจัดทำระบบไบโอแก๊สบำบัดของเสีย นำแก๊สไปใช้ปั่นไฟฟ้า ลดการใช้พลังงาน และไม่ปล่อยน้ำเสียออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ แต่ก็ยังพบปัญหากลิ่นอยู่ จึงต้องหาทางกำจัดกลิ่นจากฟาร์มให้เหลือน้อยที่สุด

กลิ่นจากฟาร์มประกอบด้วย 3 ชนิดหลัก คือ แอมโมเนีย ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และแก๊สมีเทน โดยเริ่มจากการวิธีการต่างๆ ตัวอย่างเช่น การใช้จุลินทรีย์ลดกลิ่น และปลูกต้นไม้หลังพัดลมโรงเรือน ต่อมามีโอกาสเดินทางไปดูงานที่จีน เห็นวิธีการกำจัดกลิ่นจากโรงเรือนสุกร ก็ได้นำมาปรับใช้ แต่ยังลดกลิ่นได้ไม่มากพอ

หลังจากนั้น บริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIS ได้มาแนะนำวิธีการกำจัดกลิ่นที่สามารถวัดผลได้ ก็เกิดความสนใจและตัดสินใจนำร่องติดตั้งระบบ 1 หลัง เนื่องจากฟาร์มใช้ระบบโรงเรือน EVAP มีพัดลมดูดอากาศออกด้านท้ายโรงเรือนที่มีกลิ่นปนมาด้วย ซึ่งกลิ่นเหล่านี้ต้องใช้น้ำเป็นตัวจับ จึงใช้ ผลิตภัณฑ์ R-OXX ของไบโอซายน์ผสมน้ำ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดกลิ่น โดยสเปรย์น้ำฝอยฟุ้งกระจายจับกลิ่น

พร้อมกันนี้ยังมี แผงพลาสติกชนิดพิเศษ BIS-AirNET ติดตั้งด้านท้ายโรงเรือน ซึ่งจากทดสอบระบบฟอกกลิ่นมาก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ลดกลิ่นได้เป็นอย่างดี และหลังทำไประยะหนึ่งก็อาจไม่ต้องสเปรย์น้ำ 24 ชั่วโมง ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์วัดกลิ่น BIS-AirBOX ช่วงใดกลิ่นมากก็เปิดระบบสเปรย์ กลิ่นลดลงถึงระดับที่ตั้งไว้ก็หยุด เพื่อประหยัดพลังงานและน้ำได้ด้วย

ถึงแม้ว่า แม้ระบบฟอกกลิ่นนี้ต้องลงทุนเพิ่ม แต่ถ้าไม่ทำก็จะอยู่ร่วมกับชุมชนไม่ได้ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ มิฉะนั้น ก็อยู่ต่อไปได้ยาก แม้ต้องเพิ่มต้นทุนแต่ก็ต้องทำ ไม่งั้นฟาร์มก็อยู่ร่วมกับชุมชนไม่ได้ และจะถูกชาวบ้านร้องเรียน

ที่สำคัญ ทำแล้วต้องมีตัววัดว่า ก่อนทำกลิ่นเป็นอย่างไร ระดับเท่าใด และหลังทำแล้วกลิ่นหมดไปหรือไม่ หรือมีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยต้องมีเครื่องตรวจวัดที่เขื่อถือได้ โดยตั้งเป้าติดตั้งระบบฟอกกลิ่นต่อไปให้ครบทุกโรงเรือน

ทุกวันนี้การทำฟาร์มเลี้ยงสุกรไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำประชาพิจารณ์ ขออนุญาตหน่วยงานท้องถิ่นที่มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์มากมาย ดังนั้น ฟาร์มที่เกิดขึ้นใหม่ต้องประเมินเรื่องการกำจัดการกลิ่น เช่นเดียวกับฟาร์มเก่าที่ต้องใส่ใจเรื่องกลิ่นเช่นกัน

วันนี้ฟาร์มสุกรลำบาก เพราะทุกวันนี้ขาดทุน เพราะราคาหมูเป็นถูก เนื่องจากมีหมูกล่อง แช่เย็น เข้ามาตีตลาดจำนวนมาก เพราะต้นทุนต่ำกว่า ไทยที่มีต้นทุนสูงตามราคาวัตถุดิบ ฟาร์มทุกวันนี้ขาดทุนทั้งหมด ทั้งฟาร์มเล็กหรือใหญ่ จึงต้องหาวิธีการจัดการ เพื่อให้อยู่ได้ หากต้องการอยู่ในอาชีพนี้ต่อไป” คุณไพโรจน์กล่าว

คุณไพโรจน์กล่าวต่อถึง ภาพรวมการเลี้ยงสุกรปัจจุบันว่าเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนสูง ผู้เลี้ยงต้องหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ถูกลง โดยอาจต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะต้องยอมรับว่า ไทยไม่ใช่แหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้ง ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ผลิตได้ไม่พอกับความต้องการ แต่การนำเข้าก็มีภาษีอยู่ ซึ่งทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรก็พยายามต่อรองกับรัฐบาล ขอให้ปลอดภาษี เพื่อลดต้นทุนส่วนหนึ่ง

อีกทาง คือ การส่งเสริมการผลิตอาหารสัตว์ในไทย เพื่อลดต้นทุน ด้วยการลดพื้นที่ปลูกข้าวลง แล้วหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่นแทน เพื่อใช้ภายในประเทศให้เพียงพอ เพราะหากยังพึ่งพานำเข้าโอกาสที่ต้นทุนถูกคงเป็นไปได้ยาก

ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องป้องกันการลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” จากต่างประเทศที่มีต้นทุนาผลิตต่ำมาทำลายธุรกิจสุกรไทย เพราะอาจมองว่าจะผลิตเองทำไม เนื่องจากเนื้อหมูจากต่างประเทศราคาถูก หากเป็นเช่นนั้น็ะทำให้ธุรกิจทั้งสุกรและปศุสัตว์อื่นๆ รวมถึงอาหารสัตว์และธุรกิจยาสัตว์อยู่ไม่ได้ทั้งหมด

“ในฐานะเจ้าของฟาร์มจึงอยากวิงวอนรัฐบาลให้เข้ามาดูแลอย่างจริงจัง เพราะหากนำเข้ามาแล้วถูกกว่า คงไม่มีใครลงทุนไปเลี้ยง เมื่อฟาร์มไม่มี ยาสัตว์ อาหารสัตว์ก็ขายไม่ได้ ปลูกข้าวโพดก็จะล่มสลายไปด้วยกันทั้งหมด กระทบกับเกษตรกรจำนวนมาก ดังนั้น ต้องเข้ามาแก้ปัญหาหมูเถื่อนอย่างจริงจัง ซึ่งมองว่า ไม่น่ายาก แต่อาจมีเงื่อนไขบางอย่างอยู่จึงยังไม่สำเร็จ” คุณไพโรจน์กล่าว

คุณไพโรจน์กล่าวต่อว่า ในส่วนราคา หากหมูกล่องยังเข้ามาอยู่เช่นนี้ คงดาดเดาไม่ได้ว่า ราคาจะดีขึ้นเมื่อใด แต่จากความพยายามตัดวงจรนำลูกสุกรไปทำหมูหัน เพื่อลดปริมาณสุกรที่จะออกสู่ตลาดนั้นคงช่วยได้ระดับหนึ่ง เพราะหากหมูกล่องเข้ามาก็คงยากที่จะทำให้ราคาดีขึ้น แต่ถ้าตัดวงจรได้แล้วใช้ผลผลิตในไทย ราคาก็มีโอกาสดีขึ้นได้แน่นอน เพราะหมูในอดีตก็มีขึ้นลงตามวัฎจักร

แต่เมื่อมีหมูเถื่อนเข้ามาก็ไปต่อได้ยาก และของเถื่อนยังลามไปยังธุรกิจอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านี้มาจากประเทศที่เทขายมาในราคาถูก แต่ทำกำไรให้กับคนนำเข้ามหาศาล จึงต้องอาศัยความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลในการจัดการ

ที่ผ่านมา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติคำนวณต้นทุน และพยายามขอความร่วมมือในการผลักดันราคามาที่ต้นทุน ซึ่งกรมปศุสัตว์ก็บอกจะช่วย แต่ถ้าต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท แต่หมูกล่องขายที่กิโลกรัมละ 60 บาท ทั้งตลาดชิ้นส่วนที่ถูกจะดึงต้นทุนมาได้อย่างไร ก็ไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน ปัญหาจึงอยู่ที่หมูกล่อง ถึงแม้จะลดแม่พันธุ์ ตัดวงจรลูกสุกร ก็เป็นเพียงการแก้ไขเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่แท้จริงต้องแก้ที่หมูกล่อง เพราะไทยห้ามนำเข้าซากสุกรจากต่างประเทศเข้า แต่ผู้ลักลอบก็มีวิธีการจนนำเข้ามาได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐก็คงเป็นไปได้ยาก

“ปริมาณการผลิตสุกรในประเทศ ไม่ได้เกินความต้องการ เพียงแต่มีหมูเถื่อนเข้ามาแย่งทำตลาด ถ้าสกัดหมูเถื่อนได้ ปล่อยให้กลไกตลาดในประเทศทำงาน ก็จะดีขึ้น แม้เศรษฐกิจในประเทศจะค่อนข้างแย่ รัฐจะแจกเงินก็ทำไม่ได้ ยังติดปัญหาอยู่ ซึ่งเงินดิจิทัลอาจยากก็ควรหันไปแจกเบี้ยเลี้ยงคนชรา ที่ได้เดือนละ 600-700 บาท ซึ่งไม่เพียงพอก็ให้แจกเดือนละ 3,000 บาทก็จะเป็นอีกช่องทางกระจายเงินไปยังผู้สูงอายุ และมีโอกาสกระจายไปถึงลูกหลาน ทำให้เงินสะพัดเข้าไป และควบคุมได้ง่าย และไม่มีโอกาสที่เงินจะรั่วไหลออกนอกระบบ ก็เป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ก็ช่วยเศรษฐกิจดีขึ้น” คุณไพโรจน์กล่าว

คุณกิตติพงศ์ พวงศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไผ่สิงห์ทองฟาร์ม เปิดเผยว่า การกำจัดกลิ่นจากฟาร์มสุกร เดิมทีอาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เนื่องจากฟาร์มอยู่ห่างจากชุมชนพอสมควร แต่หลังจากที่ฟาร์มขึ้นโรงเรือนมากขึ้น และมีชุมชนเข้ามาสร้างบ้านเรือนใกล้ฟาร์มมากขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญ โดยในระยะแรกก็เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ราชการเข้ามาแนะนำว่าควรทำอย่างไร เช่นการติดตั้งแสลนกรองกลิ่น ปลูกต้นไม้ ซึ่งทำแล้วก็ยังไม่ได้ผลมากนัก

จนกระทั่งกลางปีที่แล้วได้มีโอกาสไปดูงานที่ประเทศจีน ที่เมืองฉางชา และเห็นฟาร์มที่จีนทำระบบนี้ก็ได้สอบถามและคาดว่า น่าจะได้ผล ก็นำมาทดลองที่ฟาร์ม แต่ก็เกิดปัญหาที่ไม่มีตัวแบบมาด้วย ก็ต้องคิดค้นหาวิธีการขึ้นมาใหม่ทั้งโรงเรือน วัสดุก็ต้องหาสิ่งที่คิดว่า น่าจะใช้ได้ โดยช่วงแรก ใช้ตาข่ายที่ทำเป็นม่านน้ำก็ใช้ตาข่ายทั่วไป แต่ทำหลายชั้น 5 ชั้นบ้าง 10 ชั้นบ้าง ก็ยังไม่ได้ผล

“ทีมงานไบโอซายน์ ได้เข้ามาให้คำแนะนำวัสดุตัวหนึ่งที่เรียกว่า BIS-AirNET เป็นเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมัน ก็ได้เริ่มทดลองนำมาใช้ ซึ่งพบว่า ได้ผลดี ลดกลิ่นลงได้มาก โดยประเมินจากเครื่องวัดกลิ่น ทั้งแอมโมเนียและไฮโดรเจนซัลไฟล์ที่ลดลงมาก ก็คิดว่า เป็นวิธีที่การน่าจะลงตัวแล้ว จึงคิดว่าจะขยายไปยังโรงเรือนอื่นๆ ต่อไป โดยที่แห่งนี้มีโรงเรือนประมาณ 100 หลัง ก็คงไล่ทำจนกว่าจะครบ ก็เชื่อว่าจะแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นได้ดี ลดปัญหากับชุมชน

อีกประเด็นที่ต้องป้องกันสิ่งเหล่านี้ เพราะกระทรวงแรงงานที่มีมาตรการในการคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงาน และคนทำงานในที่ทำงานก็มีกติกา และมีมาตรการว่า มีแสง เสียง และกลิ่นในปริมาณเท่าไร อย่างไร มีข้อบังคับตรงนี้เช่นกัน ซึ่งทุกปีก็จะมีการตรวจสอบจากคนกลางเป็นผู้ตรวจสอบตามที่กระทรวงแรงงานกำหนดไว้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ฟาร์มผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงแรงงานทั้งหมด ทั้ง แสง เสียง และกลิ่น ที่ไม่เกินเกณฑ์ ก็เป็นอีกเหตุผลหลักที่ต้องจัดการปัญหาเรื่องกลิ่นให้ดีขึ้น” คุณกิตติพงศ์กล่าว

คุณไพโรจน์ (ซ้าย) และคุณคุณกิตติพงศ์ (ขวา) พวงศิริ ผู้บริหารไผ่สิงห์ทองฟาร์ม

คุณกิตติพงศ์กล่าวต่อว่า ในอนาคตปัญหากลิ่นและสิ่งแวดล้อมยิ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้น เพราะกฎหมายคุ้มครองประชาชน สิ่งใดที่รบกวนความเป็นอยู่ของประชาชนในกฎหมายก็จะต้องจัดการทั้ง กลิ่น น้ำเสีย สารเคมี ที่เข้ามาทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนเดือดร้อน กฎหมายคงไม่ยอมแน่นอน ทำให้ฟาร์มปศุสัตว์ ทั้งหมูและไก่ ปัญหากลิ่นและน้ำเสีย จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบกิจการนี้ต้องระมัดระวังและแก้ปัญหาให้ดี เพื่อให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

“การเลี้ยงสุกรวันนี้ผู้เลี้ยงเดือดร้อน เพราะราคาที่ยังไม่สอดคล้องกับต้นทุน ทำให้ผู้เลี้ยงทุกรายขาดทุน แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการจัดการแต่ละฟาร์ม ซึ่งหากระยะเวลาขาดทุนลากยาวไป การทนต่อภาวะขาดทุนของเกษตรกรไม่เท่ากัน บางรายอาจอยู่ได้นาน บางรายก็อยู่ได้ไม่นาน ทำให้มีบางส่วนที่หลายจากระบบ ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ คือ ต้องลดต้นทุนตัวเองให้ดีที่สุด

ขณะที่รัฐบาลต้องช่วยแก้ปัญหาหมูเถื่อนให้ออกไปจากระบบ เพราะเดิมทีราคาหมูก็เปลี่ยนตามกลไกตลาดอยู่แล้ว แต่วันนี้มีกำลังผลิตส่วนหนึ่ง คือ หมูเถื่อนจากต่างประเทศเข้ามา ในราคาถูกกว่ามากๆ ทำให้ระบบราคาในประเทศกระทบทั้งระบบ รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ต้นทุนการเลี้ยงสุกรกว่า 80% อยู่ที่อาหาร หากจัดการในส่วนนี้ได้ก็จะช่วยลดต้นทุนลงได้มาก ด้วยการปรับสูตรอาหาร เปลี่ยนชนิดวัตถุดิบ เปลี่ยนแหล่งวัตถุดิบ ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องเน้นการจัดการปัญหาหมูเถื่อนให้หมดไปอย่างจริงจัง” คุณกิตติพงศ์กล่าว

น.สพ.ทศพร ปัญญาอรรถ (หมอพีท) บริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (มหาชน) BIS กล่าวว่า BIS มีความตั้งใจระบบสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับนโยบาย ESG เพื่อให้ฟาร์มปศุสัตว์อยู่ร่วมกับชุมชนได้ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทได้ติดตั้งพลังงานสะอาดให้กับฟาร์ม โดยในปีที่แล้วติดตั้งพลังงานสะอาดให้กับฟาร์มได้ประมาณ 10 เมกะวัต หลังจากนั้นก็ดำเนินการระบบฟอกกลิ่น โดย ไผ่สิงห์ทองฟาร์ม ถือเป็นต้นแบบในการทำระบบฟอกกลิ่นให้กับฟาร์มปศุสัตว์

โดยแบบได้ปรับปรุงตัวแบบมาจากเล้าต้นแบบในประเทศจีน และนำเทคโนโลยีที่มีเกี่ยวกับระบบกำจัดกลิ่น แผงกำจัดกลิ่น น้ำยา นำมาออกแบบใหม่ เพื่อให้ลักษณะการสร้างโรงเรือนและระบบฟอกกลิ่นเหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด

โดยระบบ ESG ที่ไบโอซายน์ทำคาดหวังว่า จะทำให้ฟาร์มปศุสัตว์อยู่ร่วมกับชุมชนได้ และเป็นแหล่งทำเงิน แหล่งรายได้ของชุมชนในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยมีการผลิตสุกร ไก่ และไข่ เพื่อจัดส่งให้กับคนทั้งประเทศบริโภคและส่งออก ดังนั้น ฟาร์มสุกร ฟาร์มไก่ ก็เป็นแหล่งที่สร้างรายได้ย้อนกลับไปให้ชุมชน ทำให้ทุกคนอยู่ดีกินดี ถ้าฟาร์มหมูอยู่ได้ ทุกคนก็อยู่ได้

“BIS คาดหวังว่าธุรกิจปศุสัตว์จะอยู่คู่กับประเทศไทยไปอย่างยั่งยืน การจัดการสิ่งแวดล้อมถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี จะทำให้คนภายนอกฟาร์ม ชุมชน อยู่ร่วมกับฟาร์มสุกรได้ และทำให้พนักงานทุกคนในฟาร์มทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข” หมอพีทกล่าว

หมอพีทกล่าวต่อว่า การลงทุนติดตั้งระบบฟอกกลิ่น ต้นทุนด้านรูปแบบทางบริษัทยินดีเปิดแบบให้ทุกคนเข้าถึงตัวแบบได้ ถือว่าไม่มีต้นทุนแบบ ที่เหลือจะเป็นต้นทุนโครงสร้าง ซึ่งรวมประมาณ 1 แสนบาทต่อหลัง หรือหากเป็นโครงสร้างอย่างดี ใช้วัสดุเป็นเมทัลชีทอย่างหนา ก่อและเทปูนอย่างดี ก็จะอยู่ที่ 2-3 แสนบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงเรือนเดิม เพราะระบบจะทำหน้ากว้างเท่ากับโรงเรือนเดิม ส่วนมีเดียหรือก้อนฟอกกลิ่นก็อยู่ที่ 80,000-100,000 บาท สำหรับโรงเรือนขนาดใหญ่

การลงทุนครั้งแรกยอมรับว่า ต้องลงทุนค่อนข้างสูง แต่เมื่อประเมินอายุการใช้งานที่ประเมินไว้ที่ 12 ปี ถือว่าไม่แพง คุ้มค่า ส่วนระบบที่มีการสเปรย์ม่านน้ำ ก็จะมีน้ำยาเข้าไป หากสเปรย์แล้วน้ำยาหายไปจากระบบก็จะทำให้ค่อนข้างเปลือง ก็ต้องทำระบบหมุนเวียนน้ำ น้ำยาที่ใช้จะถูกนำกลับมาในระบบ ซึ่งเหมือนกับระบบ EVAP ตัวระบบสเปรย์น้ำ ระบบกรอง ก็จะทำให้น้ำเสียจากระบบการฟอกกลิ่นออกมาน้อยมาก

และคาดว่า จะใช้น้ำในระบบฟอกกลิ่นเพียง 3 ลูกบากศ์เมตรต่อเดือน ทำให้ต้นทุนระบบค่อนข้างต่ำ และนำที่ออกจากระบบนี้ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตัวน้ำยาสามารถโดนตัวคนและสัตว์ได้ เป็นน้ำยาออแกนิค ดังนั้น น้ำยาหลังจากใช้เสร็จแล้วสามารถทิ้งลงระบบไบโอแก๊สได้ทันที ซึ่งประเมินค่าน้ำยาไว้ที่ 3-5 พันบาทต่อโรงเรือน แล้วแต่ขนาดของโรงเรือน ซึ่งเป็นต้นทุนที่ยอมรับได้

น.สพ.ทศพร ปัญญาอรรถ (หมอพีท)

“ระบบฟอกกลิ่นแนะนำให้ทำในหลังที่มีกลิ่นมากๆ เช่น โรงเรือนคลอดและอนุบาล ตัวระบบ ณ วันนี้ หากเต็มระบบเชื่อว่า เก็บกลิ่นได้มากกว่า 90% โดยวัดด้วยเครื่องมือวัดกลิ่น Electronic Nose สามารถลดค่ากลิ่นจาก 77 ลงมาได้เหลือเพียง 0-1 ถือว่า เป็นที่น่าพอใจมาก และเจ้าของฟาร์มก็พอใจกับระบบนี้ค่อนข้างมาก” หมอพีทกล่าวทิ้งท้าย.

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ น.สพ.ทศพร ปัญญาอรรถ (หมอพีท) บริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (มหาชน) BIS โทร.08-5264-6669.

https://online.anyflip.com/oecfd/dqgx/mobile/index.html
👆 อ่านฟรี นิตยสาร พิกแอนด์พอร์ค no.175
🐷 ไผ่สิงห์ทองฟาร์ม จับมือ ไบโอซายน์ (BIS) ติดตั้งระบบฟอกกลิ่นในฟาร์ม